สังขละบุรี เมืองดีสามฤดู

น้ำตกเกริงกะเวียรินไหลอยู่ข้างทางก่อนถึงสังขละบุรี เป็นจุดพักรถและพักผ่อน

เคยมีคนถามผมว่า “หลงใหลอะไรนักหนาสังขละบุรี”

คนถามคงเห็นว่าผมไปสังขละบุรีอยู่เรื่อยๆ บางปีไปถึงสองสามครั้ง บางครั้งเว้นไปสองสามปี ช่วงโควิดเว้นยาวเลย จำไม่แม่นว่าไปมากี่ครั้ง เท่าที่พอจะจำได้ตั้งแต่เริ่มเที่ยวต้องมี 20 ครั้งเป็นอย่างน้อย

ผมตอบเขาไปง่ายๆ ในเบื้องต้นว่า “สังขละสวยดี ชอบ”

ก่อนถึงตัวเมืองสังขละบุรีจะพบบ้านเรือนบนทุ่งหญ้าริมแม่น้ำรันตี
แม่น้ำรันตีทอดเชื่อมระหว่างทุ่งใหญ่นเรศวรกับสังขละบุรี เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญของคนกลางป่าอีกเส้นทางหนึ่ง
เรือนแพบนแม่น้ำรันตี เริ่มเห็นชาวน้ำตั้งแต่ยังไม่ถึงตัวเมืองสังขละบุรี

จากนั้นก็อธิบายกันยืดยาว เริ่มจากเป็นเมืองน้ำในหุบเขา เป็นเมืองหนาวที่อบอุ่น เป็นเมืองที่หลอมรวมคนหลายชาติพันธุ์ไว้ด้วยกัน เริ่มจากไทย มอญ ปะกาเก่อญอ (กะเหรี่ยง) และพม่า เป็นเมืองที่มากมายประเพณีและวิถีชีวิต เพียงเท่านี้ก็มากพอจะตอบได้ว่า “ทำไมถึงหลงใหลสังขละ ทำไมถึงต้องไปเที่ยว” และที่แปลกคือสังขละบุรีในช่วง 10 ปีแรกผมไม่รู้จักใครเลย ไม่มีเพื่อนอยู่ที่นั่นเลย ไปคนเดียวก็หลายครั้ง ไปสองสามคนก็หลายที ส่วนช่วง 10 ปีหลังเริ่มมีเพื่อนไปปักหลักอยู่ที่นั่นบ้าง ทำที่พักพักบ้าง เปิดร้านกาแฟบ้าง

เชื่อว่านักเดินทางส่วนใหญ่รู้จัก อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี กันเป็นอย่างดี ดีจนไม่ต้องพูดถึงรายละเอียดอะไรมากนัก ที่อยากบอกเพิ่มเติม ทำไมผมถึงรักเมืองนี้? ทำไมเมืองนี้ถึงทำให้คนมากมายหลงรัก?

“รักแรก” สังขละบุรีเป็นเมืองน้ำในหุบเขาอันเกิดจากแม่น้ำสามสายคือแม่น้ำรันตี แม่น้ำซองกาเรีย และแม่น้ำบีคลี่ ไหลมารวมกันจนเกิดเป็นทะเลสาบกว้างใหญ่ที่เรียกว่า “สามประสบ”

ทะเลสาบสามประสบยามเช้า
ทะเลสาบสามประสบยามเช้า
หมู่บ้านฝั่งมอญมีบ้านหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่เรือนแพ กระท่อมไม้ เรือนแถวสองชั้น
สายหมอกยามเช้าปกคลุมขุนเขาแล้วไหลลงมาที่ทะเลสาบสามประสบ
แพไม้บนทะเลสาบสามประสบมีทั้งบ้านที่อยู่อาศัย ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร และเป็นที่เช่าเรือออกไปท่องเที่ยวชมโบสถ์เก่า
บ้านเรือนแพกับสะพานไม้ ยามเย็น
หมอกยามเช้าปกคลุมเรือนแพและเรือท่องเที่ยว
เรือท่องเที่ยว

“รักต่อมา” เมื่อมีคนหลายชาติพันธุ์หลอมรวมอยู่ด้วยกันจึงมีม่านประเพณีให้จับต้องได้ให้สัมผัสได้ โดยเฉพาะคนมอญนั้นมีประเพณีงานบุญตลอดทั้งปี (แทบทุกเดือน) เป็นงานบุญที่เข้มขลังเห็นแล้วรู้สึกถึงพลังในการรวมใจของชุมชน การแต่งกายก็ยอดเยี่ยม เรียบร้อยและสุภาพมากๆ (หากใครไปร่วมงาน ไปวัด ไปใส่บาตรกรุณาแต่งตัวสุภาพด้วยครับ)

“รักที่สาม” สังขละบุรีมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายทั้งทะเลสาบ ภูเขา น้ำตก ที่สำคัญเที่ยวได้ตลอดปีไม่มีเว้นวรรค ทั้งหน้าฝน หน้าหนาว และหน้าแล้ง แต่ละฤดูกาลมีความงามแตกต่างกันไป เที่ยวได้ทั้ง 12 เดือน ไปเมื่อไหร่ได้ใจเมื่อนั้น

แล้วก็รักอะไรอีกหลายอย่าง เมื่อก่อนรักยังไงตอนนี้ยังรักยังงั้น ด้วยตัวเองรักก็เลยอยากให้เพื่อนลองไปรักดูบ้าง ส่วนจะรักจริงหรือรักเล่นนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะเดินไปพบอะไรเจออะไร เจอรักก็ดีไป หากเจอหัวใจก็เก็บไว้ ลองเอาใจแลกใจแล้วจะได้ใจดีๆ ติดตัวกลับมา

เจดีย์เก่าในฤดูน้ำหลาก
โบสถ์เก่ากับเจดีย์ช่วงน้ำลด ในยุคแรกวัดวังก์วิเวการามอยู่ในหุบเขาตรงจุดนี้ รวมถึงบ้านเรือนของชาวมอญ ต่อเมื่อมีการสร้างเขื่อนเขาแหลมหรือเขื่อนวชิราลงกรณ ขึ้นที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จึงต้องย้ายขึ้นมาบนที่สูง (ที่ตั้งชุมชนปัจจุบัน) พื้นที่ตรงนี้จึงกลายเป็นทะเลสาบสามประสบ กลายเป็นแหล่งทำมาหากินทางน้ำและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปโดยปริยาย
ในบางปีน้ำท่วมสูงมากหน่อย ด้วยน้ำท่วมแบบนี้ วิศวกรบางท่านบอกว่าอาจจะอยู่ได้ไม่นาน มีสิทธิพังทะลายลงมา
เศียรพระบริเวณหน้าโบสถ์เก่า ถ้าไปช่วงปลายหนาวเข้าสู่ฤดูแล้งจะได้พบ

ต้องบอกให้คนที่ไม่เคยไปรู้ก่อนว่าสังขละบุรีที่ผมไปสัมผัสครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อนอาจเปลี่ยนไปบ้าง นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เมืองท่องเที่ยวทุกเมืองก็เปลี่ยนไปทั้งนั้น เช่น เมื่อก่อนตอนแรกเริ่มสังขละบุรีมีทริปเดินป่า นั่งช้าง ล่องแพไม้ไผ่ในแม่น้ำรันตี เดี๋ยวนี้หายไป จะมีป่าให้เดินก็คือเดินไปเที่ยวน้ำตก เช่น น้ำตกตะเคียนทอง น้ำตกนพพิบูลย์ ตอนนี้ล่องแพไม่มี มีแต่นั่งเรือไปชมโบสถ์จมน้ำซึ่งเป็นโบสถ์วัดวังก์วิเวการามหลังเดิมก่อนที่จะถูกน้ำท่วมอันเกิดจากการสร้างเขื่อนเขาแหลม

พระพุทธชินราช พระประธานในวัดเสด็จ วัดเก่าแก่ที่กลายเป็นวัดร้าง หากเหมาเรือไปเที่ยวบอกคนขับเรือให้แวะ จะได้ขึ้นไปกราบไหว้สักการะบูชา

เอาเป็นว่าอยากให้ลองไปเยี่ยมเยือนสังขละบุรีในช่วงนี้ ช่วงที่ฝนขาดสาย น้ำในทะเลสาบสามประสบลดลง ไปสัมผัสสายหมอกหนาวปกคลุมขุนเขา หมอกเช้าปกคลุมสะพานไม้ที่ทอดเชื่อมชุมชนมอญ-ไทย ไปดูโบสถ์จมน้ำ ไปดูความงามของเจดีย์พุทธคยาจำลองภายในวัดวังก์วิเวการาม

หากเลยช่วงนี้ไปเข้าสู่หน้าแล้ง โบสถ์เก่าแก่ที่ถูกน้ำท่วมจะเห็นทั้งหลัง งดงามกันไปคนละแบบ ส่วนหน้าฝนที่ผ่านมาสังขละบุรีอยู่ในช่วงอุดมสมบูรณ์ถึงขีดสุด งามหมอกฝน งามป่าชรอุ่มชุ่มชื้น

นี่คือเรื่องราวคร่าวๆ ของสังขละบุรี เมืองดีสามฤดู เมืองงามทางฝั่งตะวันตกของไทย เมืองที่อยู่ในใจคนเดินทางเสมอมา (อย่าลืมอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในคำบรรยายภาพนะครับ)

ขอบคุณที่ติดตามมาโดยตลอด ขอให้เพื่อนๆ เดินทางด้วยความปลอดภัย สุขสมหวังกับจุดหมายปลายทาง ขอบใจไทยแลนด์ สวัสดีครับ

สายหมอกยามเช้าปกคลุมสะพานไม้
อาหารเช้าชาวมอญ แป้งโรตีกินกับแกง (คล้ายแกงฮังเล)
กาแฟดำ+ขนมจีนน้ำยากะทิ+ไข่ต้ม อีกหนึ่งเมนูยามเช้าริมสะพานไม้เมืองมอญ
คนมอญเป็นคนที่ติดการทำบุญ ไม่ว่าไปวัดกันตามปกติหรือเทศกาลงานบุญคนมอญจะแต่งตัวเรียบร้อยมาก เรียบร้อยทั้งหญิงชาย ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นใส่เสื้อลายลูกไม้หรือเสื้อขาวมีผ้าสไบพาดไหล่ ส่วนผู้ชายนุ่งโสร่งสวมเสื้อเชิ้ต
ชุดตักบาตรยามเช้าของชาวมอญ นี่คือชุดปกติที่พบเห็นได้ทุกเช้า
การไปเที่ยวชุมชนคนมอญหากคนเมืองหรือนักท่องเที่ยวจะร่วมงานบุญ ไปวัด หรือตักบาตร กรุณาแต่งตัวสุภาพ กรุณาให้เกียรติวัฒนธรรมนิยมของเจ้าบ้านด้วยครับ
การไปเที่ยวชุมชนคนมอญหากคนเมืองหรือนักท่องเที่ยวจะร่วมงานบุญ ไปวัด หรือตักบาตร กรุณาแต่งตัวสุภาพ กรุณาให้เกียรติวัฒนธรรมนิยมของเจ้าบ้านด้วยครับ
หุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่ออุตตมะ หัวใจสำคัญของชาวมอญที่หลอมรวมความสามัคคีกันจนถึงทุกวันนี้ ประดิษฐานภายในวัดวังก์วิเวการาม
จากสังขละบุรีไปด่านเจดีย์สามองค์ ต้องข้ามห้วยซองกาเรีย หนึ่งในสายน้ำสำคัญ ช่วงปลายหนาวเข้าหน้าแล้งน้ำใส คนทั่วไปนิยมไปเล่นน้ำ ล่องห่วงยาง
เจดีย์สามองค์ บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ เขตชายแดนไทย-พม่า
สะพานไม้เมืองสังขละบุรี เมืองดีสามฤดู
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมไปเดินเที่ยวสะพานไม้ช่วงเช้าเพราะได้สัมผัสสายหมอกหนาปกคลุมไปถ้วนทั่ว ได้เห็นทะเลสาบสามประสบดังภาพฝัน แต่ยามสายหรือยามเย็นในวันธรรมดาสะพานมอญเงียบสงบ เหมาะกับการเดินเที่ยวไปบนความงามง่าย จะได้ภาพที่แตกต่างออกไปจากยามเช้า

#khobjaithailand

#สังขละบุรี

หมายเหตุ

– ผู้ที่ต้องการพักแบบอิงแอบแนบชิดธรรมชาติลองมองหาที่พักชื่อ “ชื่นใจเฮ้าส์” และ “บ้านแม่น้ำ”

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น