3 คืน 3 วัน หลับฝันในโลกใบเก่า

ชัยนาท อยุธยา ปทุมธานี

ตอนแรก วันแรก (ชัยนาท)

ต้องบอกถึงจุดประสงค์ของการเดินทางท่องเที่ยวในครั้งนี้ให้รู้กันก่อนว่า “3 คืน 3 วัน หลับฝันในโลกใบเก่า” ชัยนาท อยุธยา ปทุมธานี เป็นการท่องเที่ยวแบบเน้นไปสัมผัสวัดวาอารามและแหล่งโบราณคดีที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป พูดให้ชัดขึ้นมาอีกนิดคือเป็นสถานที่หรือแหล่งที่ไม่นิยม นั่นแปลว่านักท่องเที่ยวไม่ค่อยคุ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกแห่งที่เราไปล้วนมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีทั้งสิ้น โดยตอนแรกเปิดฉากที่ จ.ชัยนาท เที่ยวกันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เริ่มจากวัดหน้าพระธาตุแล้วไปจบที่สถานีตำรวจภูธรสรรพยา ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเรือนในตลาดสรรพยาปิดประตู ตกอยู่ในความเงียบสงบ หมายความว่าอาทิตย์ได้ลาทิวาวันไปนานแล้ว ส่วนการเดินทางเริ่มจากกรุงเทพฯ ออกจากเมืองหลวงตั้งแต่เช้าตรู่ แวะกินข้าวแกงที่ร้านบัวตองริมถนนสายเอเชีย จากนั้นจึงเข้าเขต จ.ชัยนาท โดยเข้าไปที่วัดหน้าพระธาตุ อ.สรรรคบุรี เป็นจุดแรก แล้วไล่เรียงไปวัดพระบรมธาตุ วัดพระแก้ว แวบไปวัดร้างอย่าง “วัดโตนดหลาย” กับ “วัดสองพี่น้อง” ช่วงสุดท้ายมุ่งสู่อำเภอสรรพยาเพื่อตามหาโรงพักแสนสวย ลองไปดูรายละเอียดกันครับว่าแต่ละที่มีอะไรให้เราชมและศึกษากันบ้าง

ฐานมหาธาตุเจดีย์ เจดีย์ขนาดใหญ่กับซากพระพุทธรูปภายในวัดหน้าพระธาตุ
เจดีย์ทรงกลีบมะเฟืองวัดหน้าพระธาตุ ประดิษฐานเรียงขนานไปกับตัววิหาร
อุโบสถวัดหน้าพระธาตุ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอาคารก่ออิฐถือปูนทรงคฤห หน้าบันทั้งสองด้านประดับรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ตกแต่งด้วยลายพรรณพฤกษา สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ฝั่งซ้ายคือหลวงพ่อใหญ่ประดิษฐานบนวิหารเก่า
พระประธานและกลุ่มพระอัครสาวกภายในอุโบสถวัดหน้าพระธาตุ
วิหาร 9 ห้อง ประดิษฐานคู่ขนานกับพระอุโบสถทางด้านทิศเหนือ ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยเจ้ายี่พระยาครองเมืองแพรกศรีราชา ช่วงปี พ.ศ.1946 – 1967 ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 12.40 เมตร ยาว 49.10 เมตร ปัจจุบันชำรุดเหลือเพียงส่วนฐาน เสา และผนังวิหารบางส่วน (ฐานวิหารล่างสุดเป็นฐานเขียงรองรับฐานบัวคว่ำ) ผนังก่ออิฐถือปูน มีเสาประดับตกแต่ง ด้านหน้าวิหารเป็นมุขยื่นซ้อนกันออกไป 3 ชั้น ด้านหน้าสุดเป็นมุขเปิดโล่ง มีร่องรอยบันไดเชื่อมต่อกับแนวทางเดิน มีบันไดและประตูขนาดเล็กสำหรับขึ้นลงวิหารทางทิศเหนือและทิศใต้ พื้นวิหารปูด้วยอิฐ ปรากฏเสาแปดเหลี่ยมก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ตั้งเรียงขนานกัน แบ่งพื้นที่วิหารตามแนวยาวออกเป็น 9 ห้อง

ทางทิศใต้มีอาสนะสงฆ์ก่ออิฐถือปูนยกสูงจากระดับพื้นวิหาร ห้องด้านในสุด 2 ห้องมีฐานชุกชีประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่ซึ่งเป็นพระประธานปูนปั้นขนาดใหญ่ปางมารวิชัย และมีพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดย่อมอยู่เคียงข้างกันอีกองค์หนึ่ง (การเข้าไปท่องเที่ยวเชิงศึกษาสามารถอ่านข้อมูลจากป้ายนิเทศที่ติดตั้งภายในวัด แต่ทั้งนี้บางป้ายอาจมีตัวเลขที่คลาดเคลื่อน เช่น ป้ายหน้าวิหาร ที่ระบุว่าพระประธานปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ในปีพ.ศ.2570
เศียรพระพุทธรูปหินทรายจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อใหญ่ วัดหน้าพระธาตุ
หลวงพ่อหมอ วัดหน้าพระธาตุ (ด้านหลังหลวงพ่อหมอมีเสาหลักเมืองเก่าแก่จัดวางเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ชม)
พระพุทธรูปนาคปรกหินทรายศิลปะขอมหรือยุคลพบุรีองค์นี้พระอิ่มเอิบแย้มยิ้มซึ่งไม่ค่อยได้เห็นหรือปรากฏให้ห็น ส่วนใหญ่พบว่าพระพุทธรูปแบบขอมมักจะเข้มขรึม (จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อใหญ่ วัดหน้าพระธาตุ) 

“วัดหน้าพระธาตุ” เป็นวัดเก่าแก่ มีสิ่งที่น่าสนใจให้ศึกษามากมายหลายจุด เริ่มจากวิหาร โบสถ์ พิพิธภัณฑ์ ก่อนไปมีคำถามขึ้นในใจว่า “ทำไมต้องชัยนาท” หลังจากมาสัมผัสจึงได้รู้ว่าชัยนาทเป็นเมืองเก่าที่ถูกแวดล้อมด้วยเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น สิงห์บุรี ลพบุรี อุทัยธานี ดังนั้นจึงได้รับอิทธิพลทางการเมืองการปกครอง รวมถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมวัดวาอารามจากยุคขอม (ลพบุรี) อู่ทอง สุโขทัย และอยุธยา ที่สำคัญยังพบหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งชี้ว่าดินแดนแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทราวดี ซึ่งมีอายุมากกว่า 1,000 ปี พอรู้แบบนี้จึงให้ความสนใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่เดินชมวัดหน้าพระธาตุนั้นเพลิดเพลินจนเกินเวลา ในวัดนี้พบว่ามีวิหารเก่าแก่คล้ายคลึงกับยุคอยุธยา หรือมองผ่านๆ อาจคิดว่าเป็นยุคสุโขทัย มีเจดีย์ทรงกลีบมะเฟืองที่งดงามด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตน มีโบสถ์เก่าแก่ที่ทางกรมศิลปกรเข้ามาบูรณะ มีซากพระธาตุเจดีย์ปรากฏให้เห็น นอกจากนั้นยังมี “พระหมอ” หรือ “หลวงพ่อหมอ” ที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะการไปขอพรเกี่ยวกับสุขภาพ เป็นวัดที่ยอดเยี่ยม ของเยอะ ก็เลยเพลิดเพลินเจริญใจเกินเวลาอย่างที่บอก

ร้านกาแฟ made my day café ริมน้ำเจ้าพระยา มุมนี้ถ่ายจากร้านกุ้งเผาทองแท้ (ร้านอยู่ติดกัน)
บางมุมของร้าน made my day café
ด้านหน้าร้าน made my day café
กุ้งแม่น้ำเผาแม่นูยอดนิยมของร้านกุ้งเผาทองแท้ มาเที่ยวชัยนาททั้งทีต้องลองครับ

หลังชมวัดหลายชั่วโมงจำเป็นต้องจัดอาหารลงท้อง แล้วก็เรื่องเยอะคือต้องการทั้งอาหารและทิวทัศน์ ผู้นำทางเลือกร้านอาหารริมแม่น้ำเจ้าพระยาตามคำขอ ในตัวเมืองชัยนาทมีร้านอาหาริมน้ำหลายร้าน เราเลือกไปกินกุ้งเผาที่ร้านกุ้งเผาทองแท้ ร้านนี้เป็นร้านเรียบง่าย ปลูกสร้างติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีระเบียงมองเห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยากว้างไกล ส่วนทีเด็ดทีขาดเรื่องงานตกแต่งต้องร้านกาแฟที่อยู่ติดกัน คือร้าน made my day café ร้านนี้ตกแต่งดีมาก แบ่งพื้นที่ประโยชน์ใช้สอยได้ดี จัดวางเฟอร์นิเจอร์ได้ลงตัว คอกาแฟที่ไปด้วยกันบอกว่ารสชาติดีด้วยสิ

ท้องอิ่ม ร่างกายกลับมามีเรี่ยวแรงอีกครั้ง คราวนี้มุ่งไปที่ “วัดพระบรมธาตุวรวิหาร” วัดที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์เนื่องจากสร้างตั้งแต่ยุคขอมเรืองอำนาจ นั่นแปลว่าวัดแห่งนี้เก่าแก่มาก ภายในวัดมีองค์เจดีย์ที่งดงามด้วยงานพุทธศิลป์ มีอุโบสถที่งดงามด้วยงานสถาปัตยกรรมแบบสมบูรณ์พร้อม นอกจากนั้นยังมี “พระทันใจ” ในซุ้มไม้สลักเสลาอย่างงดงาม นับเป็นพระทันใจแบบล้านนาบนแผ่นดินภาคกลางที่มีความงดงามไม่น้อยไปกว่าพระทันใจในภูมิภาคอื่น

องค์เจดีย์วัดพระบรมธาตุวรวิหาร
เจดีย์วัดพระบรมธาตุวรวิหารมีเจดีย์ขนาดเล็กเรียงรายประดับอยู่โดยรอบ ภายในบรรจุพระพุทธรูปเอาไว้ทุกช่อง เหนือขึ้นไปมีลวดลายบัวพุ่มประดับก่อนถึงยอด
พระประธานภายในอุโบสถวัดพระบรมธาตุวรวิหาร มีพุทธลักษณะแบบพระพุทธรูปเชียงแสน

จากวัดพระบรมธาตุมาต่อที่ “วัดพระแก้ว” วัดที่มีตำนานเกี่ยวกับหลวงพ่อลอยซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหาร ส่วนสิ่งสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของแผ่นดินนี้คือองค์เจดีย์หลังพระวิหาร เจดีย์องค์นี้สง่างามจนถูกนักโบราณคดีหลายท่านยกย่องให้เป็น “ราชินีเจดีย์” เป็นเจดีย์ที่สวยงามและสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่งของไทย มีพุทธลักษณะพิเศษคือผสมผสานระหว่างเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดกับเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมเข้าด้วยกัน สมแล้วที่ถูกยกย่องให้เห็นราชินีแห่งเจดีย์

ปัจจุบันวัดพระแก้วมีการสร้างศาสนสถานเพิ่มเติมรวมถึงรูปเคารพพระพุทธเจ้า ท้าวเวสสุวรรณและพญานาค นับเป็นวัดที่ผสมผสานงานพุทธศิลป์เก่าและใหม่ไว้ในพื้นที่เดียวกันได้อย่างน่าสนใจ

พญานาคหน้าวิหารหลวงพ่อฉาย วัดพระแก้ว ส่วนด้านหลังคือองค์เจดีย์ที่นักโบราณคดียกย่องว่าสวยที่สุดองค์หนึ่งของไทย โดยทั่วไปเจดีย์ลักษณะนี้มีให้เห็นแถบภาคเหนือ ไม่ปรากฏในภาคกลาง
พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่กับเจดีย์เก่าแก่วัดพระแก้ว
พระพุทธรูปเก่าแก่ประดิษฐานตามช่องขององค์เจดีย์วัดพระแก้วหรือที่เรียกว่า “ซุ้มจระนำ” เป็นพระพุทธรูปยืนที่มีหลายปาง เช่น ปางประธานพร ปางถวายเนตร
พระพุทธรูปและท้าวเวชสุวรรณหน้าโบสถ์หลังใหม่ วัดพระแก้ว
หลวงพ่อฉายประดิษฐานภายในวิหารวัดพระแก้ว สันนิษฐานว่ามีอายุราว 800 ปี ที่สำคัญคือด้านหลังองค์พระฉายมีทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณฝังอยู่ในองค์พระ ที่แปลกไปกว่านั้นคือทำเป็นทับหลังแบบกลับหัว

ออกจากวัดมาที่ “พิพิธภัณฑ์ชัยนาทมุนี” เหตุที่ต้องมากเพราะเคยมีนักวิชาการหลายคนออกมาพูดว่า “คนไทยไม่ค่อยเที่ยวพิพิธภัณฑ์” ซึ่งเห็นว่ามีส่วนจริง โดยเฉพาะในอดีต แต่ปัจจุบันเริ่มมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากขึ้น สำหรับผมคิดว่าถ้าจะเที่ยวเชิงศึกษาหาความรู้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัดหรือโบราณคดีควรมุ่งมาที่พิพิธภัณฑ์เป็นอันดับแรก ที่คิดแบบนี้เพราะพิพิธภัณฑ์ในทุกที่ของไทยหลอมรวมเอาเรื่องราวทั้งหมดของเมืองมาไว้ด้วยกัน พิพิธภัณฑ์ชัยนาทก็เป็นเช่นเดียวกันครับ

ถนนจากหน้าวัดพระแก้วเข้ามาสู่วิหารหลวงพ่อฉายประดิษฐานพระพุทธรูปสีขาว แค่สบตาแรกก็รู้สึกดีแล้ว
เครื่องถ้วยยุคต้นรัตนโกสินทร์ จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ชัยนาทมุนี
ล้อเกวียนหรือธรรมจักรเก่าแก่หนึ่งในวัตถุทางโบราณคดีที่ทรงคุณค่าจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ชัยนาทมุนี

ก่อนออกจากเมืองสรรคบุรีแวบมาดูวัดร้างอย่างวัดโตนดหลายกับวัดสองพี่น้อง วัดที่อยู่ติดกัน วัดที่มีเจดีย์สวยงามท่ามกลางความเขียวชรอุ่มชุ่มชื้นของพันธุ์ไม้น้อยใหญ่ กราบไหว้กันพองาม สร้างคำถามกันจนเข้าใจจึงจากลามาที่ อ.สรรพยา ซึ่งเป็นเวลาเย็นมากแล้ว

เจดีย์วัดโตนดหลาย (วัดร้าง) เป็นเจดีย์แบบพุ่มข้าวบิณฑ์ ศิลปะแบบสุโขทัย
เจดีย์วัดสองพี่น้องได้รับอิทธิพลจากขอม

ความจริงพวกเราวางแผนว่าจะมาถึงอำเภอสรรพยาให้เร็วกว่านี้ คืออยากมาเดินทอดน่องท่องชุมชนคนตลาด ซึ่งเป็นตลาดเก่า แต่ก็ติดลมกับวัดและวัดจนเวลาล่วงเลยมาถึงเย็นย่ำ โชคดีที่โรงพักเก่าสรรพยายังเปิดให้เข้าชม สถานีตำรวจภูธรหรือโรงพักเก่าสรรพยาเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง มีการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย มีการออกแบบจัดวางแสงให้ตัวเรือนเกิดความโดดเด่นสะดุดตา ภายในเรือนโรงพักจัดแสดงภาพถ่ายตั้งแต่อดีตซึ่งมีความน่าสนใจมากครับ (ใครบางคนแอบชอบเรือนหลังนี้จนคิดว่าจะกอปปี้แบบไปสร้างบ้านพักอาศัย)

สถานีตำรวจภูธรสรรพยาหรือโรงพักเก่าสรรพยา (ช่วงค่ำ) เป็นเรือนไม้ยกสูงฉลุเชิงชายโดยรอบ มีบันไดทางขึ้นสองด้าน ตอนนี้จัดแสดงภาพถ่าย เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมทุกวัน
ภายในโรงพักเก่าสรรพยา
โต๊ะสิบเวร แต่คนที่นั่งไม่ใช่ตำรวจ (น้องฝนจาก ททท.ส่วนกลาง) ใครบางคนบอกว่าถ้าโรงพักในเมืองไทยมีสิบเวรแบบนี้โรงพักน่าจะเต็มไปด้วยโจรหรือไม่ก็แจ้งความกันทั้งวัน
บริเวณที่ว่าการอำเภอสรรคบุรีมีอนุสาวรีย์ขุนสรรค์ วีรบุรุษแห่งลุ่มแม่น้ำน้อย ที่น่าแปลกคือคนที่มาบนบานศาลกล่าวจะมาแก้บนด้วยรูปปั้นควายไม่ใช่ม้าลาย ไก่ชน หรือยีราฟ อย่างที่เคยคุ้น

นี่คือ 1 วันในเขตจังหวัดชัยนาท เป็นหนึ่งวันในเศษเสี้ยวหนึ่งของชัยนาท ซึ่งความจริงชัยนาทยังมีที่เที่ยวอีกมากมายหลายแห่ง เช่น เขื่อนเจ้าพระยา วัดมะขามเฒ่า สวนนก หากจะให้ครบจบจริงต้องใช้เวลาสองสามวันครับ

หลังจบวันแรกก็ได้แต่หวังว่าบทความจาก khobjaithailand จะช่วยกระตุ้นหัวใจนักเดินทางที่นิยมการท่องเที่ยวเชิงศึกษาให้เข้ามาสัมผัสเมืองชัยนาทมากขึ้น ต้องขอบคุณผู้ให้การสนับสนุน พระสงฆ์ และชาวบ้านที่ส่งเสริมให้การเดินทางท่องเที่ยวก่อเกิดเป็นองค์ความรู้ ส่วนตอนต่อไปจะพาไปพบวัดที่โลกลืมในเมืองมรดกโลกอยุธยา โปรดติดตาม ขอบคุณมากครับ

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในคำบรรยายภาพครับ)

#3คืน3วันหลับฝันในโลกใบเก่า ตอนแรก

#khobjaithailand

#วันเดียวเที่ยวได้

หมายเหตุ

– เมืองสรรค์หรือสรรคบุรีในอดีตเคยเป็นหัวเมืองของอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งถูกเรียกว่า “เมืองแพรก” หรือ “เมืองแพรกศรีราชา”

ขอบคุณ

– หลวงลุงเล็ก วัดหน้าพระธาตุ- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น