3 คืน 3 วัน หลับฝันในโลกใบเก่าชัยนาท อยุธยา ปทุมธานี ตอนสาม วันที่สาม ปทุมธานี (ตอนจบ)

น่าจะเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ค้นหาที่มักมีอะไรค้างคาอยู่ในใจ การเดินทางทริปนี้ก็เป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะกับเมืองเก่าอยุธยา คือเช้าวันใหม่ยังไปไม่ถึงไหน ยังไม่ไปปทุมธานีแต่ขอแวะเก็บบางเรื่องกันก่อน นั่นคือจิตรกรรมฝาผนังวัดพุทไธศวรรย์กับวัดร้างริมทางเปลี่ยว “วัดเตว็ด” จากนั้นค่อยเยื้องย่างเดินทางเข้าปทุม ซึ่งคาดเดาได้ว่าอาจล่าช้ากว่าเวลาที่ตั้งกันไว้ สำหรับบางเรื่องในบางจุด หากมันจะช้าไปบ้างใครจะขวาง ร่วมหัวจมท้ายกันสิครับ

ก่อนมาเที่ยวทริปนี้มีหลายคำถามผุดขึ้นในใจ หนึ่งในนั้นคือ “ปทุมธานีมีดีอะไร อยู่ติดกรุงเทพฯ แค่นี้ทำไมไม่ค่อยนึกถึง” ส่วนคำตอบที่ได้คือเมืองนี้ซุกซ่อนบางเรื่องราวในโลกใบเก่าเอาไว้มากพอสมควร การเดินทางท่องเที่ยวแบบ “3 คืน 3 วัน หลับฝันในโลกใบเก่า” มาจบที่เมืองนี้ เมืองดีที่เราเลือก จุดใหญ่ที่เน้นคืออำเภอสามโคก โดยเริ่มกันที่วัดโบสถ์ วัดสิงห์ ตลาดอิงน้ำสามโคก ส่วนช่วงสุดท้ายไปนั่งพักเหนื่อยกันในโลกใบใหม่ที่ “ร้านนิทาน”

ไปดูกันดีกว่าว่าวันสุดท้ายของการเดินทางเราพบอะไรกันบ้าง

ภายในโถงชั้นสองของตำหนักสมเด็จพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์
ภาพเขียนเรื่องการเดินทางไปลังกาด้วยเรือสำเภา วัดพุทไธศวรรย์
ภาพจิตรกรรมที่เขียนถึงชาวต่างชาติในกรุงเก่าอยุธยา วัดพุทไธศวรรย์
ร่องรอยภาพเขียนหญิงมอญบนบานหน้าต่าง วัดพุทไธศวรรย์ ภาพนี้แม้เลือนลางแต่ไม่จางหาย ยังพอสังเกตได้ว่าเป็นภาพที่เขียนแบบเหมือนจริง โครงศีรษะและใบหน้าเขียนแบบเหมือนจริง ซึ่งผิดแผกแตกต่างจากภาพอื่นๆ

“จิตรกรรมฝาผนังวัดพุทไธศวรรย์” เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏอยู่บริเวณชั้นสองของอาคารตำหนักสมเด็จพุทธโฆษาจารย์ เป็นจิตรกรรมเพียงไม่กี่แห่งของกรุงเก่าอยุธยาที่เล่าเรื่องราวหลากหลายไว้ในที่เดียวกัน ทั้งเรื่องศาสนา สังคม และวัฒนธรรม เช่น ภาพเล่าเรื่องราวการเดินทางด้วยเรือสำเภาไปลังกาตามความเชื่อทางศาสนา มีการเขียนภาพหญิงมอญบนบานหน้าต่างไม้ ภาพเขียนที่ปรากฏชัดเจนส่วนหนึ่ง เลือนลางไปตามกาลเวลาส่วนหนึ่ง แต่โดยรวมถือว่าสมบูรณ์เหมาะแก่การไปเยี่ยมชมเป็นอย่างยิ่ง

พระปรางค์และซากวิหารเก่า วัดพุทไธศวรรย์
พระพุทธไสยาสน์ วัดพุทไธศวรรย์
อาคารตำหนักสมเด็จพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบฝรั่ง สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงสมัยสมเด็จพระเพทราชา ราวปีพ.ศ.2231-2245

สำหรับเพื่อนที่มีโอกาสไปวัดพุทไธศวรรย์ถ้ามีเวลาลองเดินชมวิหาร พระปรางค์ และพระไสยาสน์ ทั้งหมดมีความงดงามตามแบบฉบับงานศิลปะอยุธยาครับ

อาคารแบบฝรั่ง ผนังอิฐเจาะช่องหน้าต่างเป็นบานโค้ง คือสิ่งที่หลงเหลือ วัดเตว็ด อยุธยา
งานปูนปั้นลายพรรณพฤกษา วัดเตว็ด อยุธยา

“วัดเตว็ด” เป็นวัดร้างที่หลงเหลือร่องรอยให้สืบค้นน้อยมาก คือเหลือผนังอุโบสถเต็มๆ เพียงด้านเดียว อีกด้านหนึ่งเหลือเพียงบางส่วน ที่น่าสนใจคือลวดลายปูนปั้นผนังเป็นแบบลายพรรณพฤกษา เป็นลายแบบฝรั่งต่างชาติที่ยังมีให้ชม

อาคารบ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา บันทึกภาพจากร้านดอกจันทร์ริมน้ำ ปทุมธานี
ร้านดอกจันทน์ริมน้ำ ปทุมธานี
อาหารบางส่วนของร้านดอกจันทน์ริมน้ำ ปทุมธานี

ออกจากวัดเตว็ด อยุธยา มุ่งมาปทุมธานี ถึงปทุมช่วงเที่ยงพอดีจึงแวะกินข้าวเที่ยงกันที่นี่ ที่ “ร้านดอกจันทน์ริมน้ำ” ร้านปลูกสร้างริมแม่น้ำเจ้าพระยา ร้านโปร่งโล่งธรรมดา ไม่มีดีไซน์โดดเด่น แต่บรรยากาศดี ที่ต้องยอมรับคืออาหาร เป็นร้านที่ปรุงอาหารได้ดี รสชาติกลมกล่อม กินกันเพลินเจริญพุงครับ

ท้องอิ่ม ถึงคราวลุยโบราณสถานกันแล้ว เริ่มจากวัดโบสถ์เป็นอันดับแรก (ต้องลุยเพราะเวลาเหลือแค่ครึ่งวัน)

หอระฆังและวิหาร 400 ปี วัดโบสถ์ (หลวงปู่เทียน) ปทุมธานี
พระพุทธจักรพรรดิองค์เดิมประดิษฐานภายในวิหาร 400 ปี เก่าแก่และมีพุทธลักษณะที่งดงามมาก (องค์หลังสุด)
พระพุทธจักรพรรดิองค์จำลอง ประดิษฐานภายในมหาศาลาวัดโบสถ์ ปทุมธานี
ทางวัดโบสถ์ได้จัดสร้างพระพุทธจักรพรรดิแก้วหลากสีขึ้นเพื่อให้ประชนได้เข้ามากราบไหว้บูชา เป็นพระพุทธจักรพรรดินาคปรก ไม่เคยเห็นในวัดอื่น แม้จะเป็นของใหม่แต่งดงามแปลกตาน่าเลื่อมใส
พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ภายในมหาศาลาวันโบสถ์ ปทุมธานี
พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ภายในมหาศาลาวันโบสถ์ ปทุมธานี
ท้าวเวชสุวรรณ วัดโบสถ์
บางมุมในมหาศาลาวัดโบสถ์จัดแสดงการแต่งกายของคนมอญ
ผนังหน้าบรรณวิหาร 400 ปี บางส่วนประดับด้วยเครื่องถ้วยเก่าแก่

“วัดโบสถ์” (หลวงปู่เทียน) เป็นวัดเก่าแก่ของคนไทยเชื้อสายมอญ มีมาตั้งแต่ยุคอยุธยา สิ่งที่ทำให้วัดนี้มีชื่อเสียงน่าสนใจคือวิหารเก่าแก่อายุกว่า 400 ปี เรียกกันว่าวิหารพระรามัญ ส่วนพระประธานมีพุทธลักษณะแบบพระพุทธจักพรรดิ (ทรงเครื่อง) เป็นที่เคารพสักการะและกล่าวกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก แต่ช่วงนี้วิหารพระรามัญปิด อยู่ในช่วงบูรณะซ่อมแซม โชคดีที่เขายอมให้เราเข้าไปถ่ายภาพ ส่วนเพื่อนๆ ที่ต้องการไปเที่ยวชมวัดโบสถ์สามารถเข้าชมในส่วนอื่นๆ ได้ เช่น พระพุทธจักรพรรดิองค์จำลอง พระมหาจักรพรรดิแก้ว พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ท้าวเวชสุวรรณ

วิหารน้อยและอุโบสถวัดสิงห์ สามโคก ปทุมธานี
หลวงพ่อพุทธรัตนมุนี พระประธานในอุโบสถ
หลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานบนศาลาวัดสิงห์ สามโคก ปทุมธานี
หลวงพ่อเพชร เป็นพระไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่ด้านหลังหลวงพ่อโต วัดสิงห์

“วัดสิงห์” เป็นอีกวัดหนึ่งของคนสามโคก ปทุมธานี ที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าวัดอื่นๆ เป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่ยุคอยุธยา สันนิษฐานว่าเคยเป็นวัดร้าง ภายหลังชาวมอญได้เข้ามาอยู่อาศัยในถิ่นนี้ในช่วงอยุธยาตอนปลายต่อเนื่องรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงช่วยกันบูรณะขึ้นมาใหม่ ภายในวัดประกอบด้วยอุโบสถเก่า วิหารน้อย หลวงพ่อโตและหลวงพ่อเพชรที่คนทั่วไปนิยมไปกราบไหว้บูชา ทั้งอุโบสถและวิหารน้อยเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ยังคงสภาพเดิมที่สมบูรณ์งดงามตามสายพุทธ สามารถไปชมและกราบสักการะได้ทุกวัน

เตาเผาสามโคก เตาเผาโบราณที่มีชื่อเสียงของคนสามโคก
โอ่งหรือตุ่มแบบนี้คือโอ่งสามโคกแบบดั้งเดิม
ป้ายนิเทศน์ให้ความรู้เกี่ยวกับเตาเผาและภาชนะต่างๆ จากเตาเผาสามโคก

“แหล่งเครื่องปั้นดินเผาสามโคก” อยู่ตรงข้ามวัดสิงห์ เป็นแหล่งเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่ของชาวสามโคกที่ยังปรากฏอยู่ ตอนนี้ไม่ได้ทำแล้วแต่ปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยสร้างอาคารคลุมพื้นที่เตาเผา เป็นอาคารแบบเปิดโล่ง ภายในมีเตาเผาโบราณขนาดใหญ่ มีป้ายนิเทศน์เล่าเรื่องราวที่มาที่ไป จากประวัติ วิธีการ แรกเดินเข้าไปดูธรรมดาแต่เมื่อศึกษาไปเรื่อยๆ เริ่มไม่ธรรมดา ข้อมูลที่นำเสนอละเอียดมาก น่าสนใจครับ

สะพานข้ามคลองที่ตลาดอิงน้ำสามโคก ปทุมธานี
ตลาดอิงน้ำสามโคกยามเย็น ร้านรวงปิดเกือบหมดแล้ว
สินค้าแบบรวมๆ บนแผงในตลาดอิงน้ำสามโคกที่ยังเหลืออยู่ในเย็นวันนั้น
ตลาดอิงน้ำสามโคกส่วนหนึ่งเป็นบ้านไม้เรือนแถวสองชั้น อีกส่วนหนึ่งเป็นอาคารพาณิชย์
สะพานไม้เก่าจากตัวตลาดทอดไปสู่ “ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ปากคลองบางเตย”
เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากคลองบางเตยเป็นที่เคารพศรัทธาของคนไทยเชื้อสายจีนแถบสามโคกมาช้านาน
สตรีทอาร์ตในตลาดอิงน้ำสามโคก
บางมุมในตลาดอิงน้ำสามโคก ได้พบเจ้าถิ่น แมวเหมียวแสนสวย ขนสีขาว ตาสีฟ้า
โฟล์คขายน้ำบริเวณตลาดอิงน้ำสามโคก
บริเวณตลาดอิงน้ำสามโคกถือเป็นแหล่งตกปลายอดนิยม ที่เห็นคือชาวบ้านแถบนี้ แต่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยามีนักตกปลาจากถิ่นอื่นเต็มไปหมด
พิพิธภัณฑ์และอนุสาวรีย์สุนทรภู่ บริเวณตลาดอิงน้ำสามโคก

“ตลาดอิงน้ำสามโคก” กว่าจะมาถึงตลาดเวลาล่วงเลยมาถึงช่วงเย็น ตอนมาถึงตลาดวายแล้ว วันนี้เป็นวันจันทร์ตลาดปิดเร็ว คือร้านรวงปิดเกือบหมด เหลือให้เราได้พูดคุยอยู่ร้านสองร้าน ถ้าเป็นวันเสาร์อาทิตย์ตลาดจะคึกคักลากยาวไปถึงช่วงค่ำ เอาไว้มีโอกาสคงได้มาเยือนอีกสักครั้ง ทริปนี้พลาดเรื่องตลาดตั้งแต่วันแรกแล้ว (ตลาดเก่าสรรพยา) สุดท้ายยังซ้ำอีก ได้แต่ขำ แล้วปลอบตัวเองว่า “เอาน่า โอกาสหน้ายังมี”

บริเวณทางเข้าด้านหน้าและด้านข้างของร้านนิทาน คาเฟ่แอนด์การ์เดนท์ ปทุมธานี
ส่วนนี้คือบริเวณสวนด้านหลังของนิทาน คาเฟ่แอนด์การ์เดนท์
อาหารและเครื่องดื่มของร้านนิทาน คาเฟ่แอนด์การ์เดนท์ หน้าตาประมาณนี้ครับ
งานตกแต่งภายในร้านนิทาน คาเฟ่แอนด์การ์เดนท์

“นิทาน คาเฟ่แอนด์การ์เดนท์” สุดท้ายปลายวัน แวะมากิน ดื่ม ดม ชมร้านนิทาน ร้านที่มีดีไซน์โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ตัวร้านแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือภายในอาคารกับสวนด้านนอก อยากบอกว่าเป็นร้านที่ดีไซน์ได้ดีทั้งภายในและภายนอก ส่วนเครื่องดื่มและอาหารนั้นดีเกินคาด ความคิดเห็นส่วนตัวไม่มีอะไรมากไปกว่า “ชอบครับ”

“รอยยิ้มจากใจ ปิดยังไงก็ไม่มิด” นี่คือรอยยิ้มที่เราได้รับจากตลาดอิงน้ำสามโคก ชื่นใจจัง

การเดินทางท่องเที่ยวทริป “3 คืน 3 วัน หลับฝันในโลกใบเก่า” จบลงตรงนี้ เป็นสามวันสามคืนที่หลับและตื่นอย่างมีความสุข ได้รับความรู้มากมาย สุขใจในทุกๆ ที่ นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้มาเยือน เป็นทริปเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ได้รับรู้เรื่องลึกๆ ที่น่าภาคภูมิใจ หากถามว่าการไปสัมผัสแหล่งโบราณคดีนั้นดียังไง ดีขนาดไหน อันนี้ตอบยาก ตอบไม่ถูก ประการแรกต้องขึ้นกับตัวเองว่าชอบไหมประวัติศาสตร์? ชอบไหมโบราณคดี? ถ้าชอบก็ตอบได้ตรงๆ ว่า “ดีมาก” แต่ถ้าไม่ชอบก็ยากหน่อย ส่วนคนที่ไม่เคยเที่ยวแบบนี้อยากให้ลอง ลองแล้วถึงจะรู้ สำหรับผมตอนนี้รู้ซึ้งถึงแก่น คงต้องหาโอกาสเที่ยวลึกๆ แบบนี้ในโอกาสต่อไป

ขอบคุณที่ติดตามมาโดยตลอด โอกาสหน้าพบกันใหม่ สวัสดีครับ

(อ่านรายละเอียดในคำบรรยายภาพเพิ่มเติมครับ)

#3คืน3วันหลับฝันในโลกใบเก่าตอนสาม(จบ)

#khobjaithailand

#วันเดียวเที่ยวได้

ขอบคุณ

– การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

– มัคคุเทศก์และเพื่อนร่วมทางทุกท่าน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น