ด้วยความคิดถึงจึงบินมาหา
ตอนแรก หาดสุดท้ายปลายด้ามขวาน จ.นราธิวาส
(3 คืน 4 วัน ในเมืองนราธิวาส ยะลา ปัตตานี)
จำไม่แม่นว่าครั้งสุดท้ายที่มาเยือนเมืองนราธิวาสผ่านมานานเท่าไหร่ อาจจะก่อนเกิดโรคร้ายโควิดนิดหน่อย น่าจะประมาณ 3-4 ปี นราธิวาสเป็นเมืองสุดท้ายปลายด้ามขวานทองของไทยทางฝั่งตะวันออกหรือฝั่งอ่าวไทย เป็นเมืองงาม เป็นเมืองดี เมืองครบรสเรื่องท่องเที่ยว มีทั้งทะเล ทะเลหมอก ผืนป่า น้ำตก ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิต ที่สำคัญเป็นเมืองที่มากมีน้ำใจ มากมายรอยยิ้ม


เช้านี้พวกเราออกเดินทางจากสนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ ในช่วงสายด้วยนกเหล็กชื่อแอร์เอเชีย ตอนบินออกมาท้องฟ้ากรุงเทพฯ หมองหม่น พอผ่านพ้นมาอยู่เหนือท้องทะเลจึงสว่างสดใส เต็มไปด้วยริ้วหมอก กระทั่งเครื่องแตะพื้นสนามบินนราธิวาสฟ้าสีครามยังคมเข้มสวยไม่สร่าง



จากสนามบินเดินทางต่อด้วยรถตู้ รถแล่นผ่านตัวเมืองออกมาที่ อ.ตากใบ จุดแรกที่แวะคือ “ร้านอาหารยูงทอง” ร้านอาหารเก่าแก่ที่ไม่มีดีไซน์ใดๆ ให้ชื่นชมนอกจากรสชาติอาหารที่คงคุณภาพความกลมกล่อม เป็นร้านอาหารสุดเจ๋งตรงที่รสมือเชพท้องถิ่นไม่เคยเปลี่ยน ยังจำรสชาติต้มกะทิกุ้งยอดมะพร้าวกับกุ้งผัดสะตอได้แม่นยำไม่คลายจาง และที่ขาดไม่ได้คือปลากุเลาเค็มกินกับแกงเหลือง มีเรื่องต้องเตือนกันว่า “คนที่เคยกินข้าวมื้อละหนึ่งจานจะเพิ่มเป็นสอง คนที่เคยกินสองจะเพิ่มเป็นสาม” ร้านนี้ไม่ดีอย่างเดียวคือมาทีไรน้ำหนักเพิ่มทุกที (ต้องยอมฮะ)






หลังท้องอิ่มเราเดินทางมาที่ “วัดชลธาราสิงเห” หรือวัดพิทักษ์ถิ่นไทย หรือวัดท่าพรุ หรือวัดเจ๊ะเห วัดมีหลายชื่อเพราะผ่านร้อนหนาวมาหลายรุ่น อาจเรียกตามชื่อหมู่บ้านบ้าง ตามระบบราชการบ้าง เอาเป็นว่าในที่นี้ขอเรียกสั้นๆ ว่าวัดชลธาราฯ ละกันนะ
วัดชลธาราฯ เป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่ยุครัตนโกสินทร์ตอนกลางหรือสมัยปลายรัชกาลที่ 4 ภายในวัดประกอบด้วยสิ่งสำคัญคือ กุฏิสิทธิสารประดิษฐ์ กุฏิไม้ และอุโบสถ ทั้งสามสิ่งนี้มีความงามจากสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ปฏิมากรรม เรียกว่า “งามตามสายธารพุทธศิลป์ งามแบบครบองค์ประกอบ” มาตากใบทั้งทีไม่แวะไม่ได้ครับ นอกจากงานพุทธศิลป์เก่าแก่ ยังมีงานใหม่เพิ่มเติมขึ้นในยุคนี้ (ตามสมัยนิยม) นั่นคือท้าวเวสสุวรรณ
จากวัดชลธาราฯ เลยมาอีกนิดจะพบแหล่งท่องเที่ยวที่น่าแวะหรือต้องแวะนั่นคือสะพานคอยร้อยปี กับหมู่บ้านเกาะยาว

“สะพานคอยร้อยปี” อยู่บริเวณริมแม่น้ำตากใบ ทอดเชื่อมระหว่างตัว อ.ตากใบกับบ้านเกาะยาว หมู่บ้านสุดท้ายของสยามในฝั่งอ่าวไทยหรือจะพูดให้ดูดีขึ้นมาอีกนิดคือเกาะสุดท้ายปลายด้ามขวานทอง วันที่เราไปถึงสะพานไม้ชำรุดทรุดโทรม ส่วนสะพานคอนกรีตที่สร้างขึ้นมาใหม่ยังคงทนถาวรงดงามเหมือนเดิม


วันนี้เราก้าวเท้าไปบนสะพานไม้ที่ชำรุดด้วยความระมัดระวัง มีชาวบ้านคือ “บังกี” ชายใกล้วัยเกษียณนำทางข้ามไป ปกติตอนนี้ห้ามเดินข้ามแต่บังกีคนถิ่นบอกว่าเดินได้ เราเดินตามหลังบังกีพร้อมฟังเรื่องราวต่างๆ กระทั่งไปถึงริมเล พาหัวใจย่ำไปบนหาดทราย ถ่ายภาพท้องทะเลซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างทะเลไทยกับทะเลมาเลเซีย ซึมซับความงามของหมู่บ้านเกาะยาวในดงมะพร้าวจนกระทั่งเวลาผ่านมาถึงช่วงเย็นย่ำจึงร่ำลา ลากลับมาบนเส้นทางสายเดิม กลับมาที่ตัวเมืองนราธิวาส กลับมาแวะกราบองค์พระพิฆเนศ ศาลเจ้าโก้วเล้งจี้และหลวงพ่อทวดบนเขามงคลพิพิตร เขาขนาดย่อมที่เคยมีถ้ำอยู่ด้านล่างแต่ตอนนี้ปากถ้ำถูกปิดตาย (นานแล้ว) นับเป็นเรื่องแปลกที่หลวงพ่อทวด ศาลเจ้า และพระพิฆเนศ ซึ่งเป็นเทพเจ้าจากความเชื่อในหลายศาสนาเข้ามาหลอมรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

ออกจากศาลเจ้าเดินทางมาที่ “ใจดี จริงจริง” โรงแรมแบบสองชั้นเรียบง่ายแต่มีดีไซน์น่ารัก เริ่มจากมีต้นไม้เขียวครึ้มปกคลุมอาคาร ห้องพักกว้าง มีทุกสิ่งอันที่อำนวยความสะดวกให้นักเดินทาง



หลังอาบน้ำอาบท่าดวงตะวันลาล่วงไปแล้ว แล้วก็ถึงเวลาอาหารมื้อค่ำของวัน สำหรับร้านที่เลือกเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกจากร้านจิ้นฮั้ว

“ร้านจิ้นฮั้ว” ตั้งอยู่บริเวณแยกเสด็จ เป็นร้านข้าวต้มเรียบง่ายริมถนน ทีเด็ดทีขาดอยู่ที่อาหารหลายชนิด เช่น ปลาหมึกชุปแป้งทอด ซุปเปอร์ตีนไก่ (มีตีนเป็ดด้วย) จับฉ่าย มะระผัดหมูกรอบ ยำกุนเชียงไข่แดง หลังจากอาหารหลายสิบอย่างจางหายไปในพริบตา ใครบางคนบอกว่า “พี่ครับ ผมอิ่มมาก ไม่ไหวแล้วครับพี่” นึกในใจว่าใช่สิ กินเข้าไปขนาดนั้น กินข้าวต้มไม่พอยังตบด้วยโรตีเข้าไปอีก ไม่จุกก็ไม่รู้ว่าจะว่าไงแล้วไอ้น้อง (ร้านโรตียอดนิยมอยู่ใกล้ๆ กัน)
รุ่งเช้าวันใหม่ มุ่งไปที่ร้าน akhoo (อาควู) ร้านนี้เป็นร้านเก่าแก่แต่มีการปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัย อาหารมีความหลากหลายมาก แต่โดยรวมเราเน้นไปที่อาหารถิ่น เช่น ข้าวหมกปลา ข้าวหมกไก่ ข้าวเหนียวปลาเค็ม โรตีแกงกะทิ ร้าน akhoo คงความเป็นอาหารแบบมีเครื่องเทศที่กลมกล่อม ที่แปลกคือมีกลิ่นเครื่องเทศแต่ไม่แรงจนเกินงาม เรียกว่าคนไม่ชอบยังรับได้ แล้วก็รับได้เยอะด้วยสิ คือสั่งกันมาเต็มโต๊ะ กินกันกระจาย ใครบางคนพูดไปเคี้ยวไป เขาบอกว่า “เดี๋ยวต้องเดินทางไกล กินตุนกันไว้ก่อน” ใครอีกคนบอกว่า “ถูกปากถูกใจหละสิ”


หลังท้องไส้เบิกบาน ออกเดินทางมาที่ “หาดบ้านทอน” แวะมาดูหาดทรายกับน้ำทะเลใสสะอาด แวะมาพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้าน (ผู้ใหญ่อาหมัด สาและ) ผู้เป็นช่างมือหนึ่งในการสร้าง “เรือฆอและ” (ปัจจุบันเรียกเพี้ยนเป็น “กอและ”) เรือท่องทะเลอันเป็นเอกลักษณ์ของคนถิ่นนี้ พูดคุยกันพอหอมปากหอมคอ ถ่ายภาพหาดทรายกันจนอิ่มเอมจึงออกเดินทางสู่เมืองยะลา




เป็นอันว่าการเดินทางเยือนด้ามขวานไทยปลายสุดสยามในตอนแรกจบลงตรงนี้ จากนั้นจึงเดินทางเหยียดยาวไป อ.เบตง จ.ยะลา ไปตามหาทะเลหมอกที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของไทย โปรดติดตามตอนต่อไป ขอบคุณและขอบใจที่ติดตามมาโดยตลอด ขอบคุณมากครับ
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในคำบรรยายภาพครับ)
#โมเมนต์ที่ใช่สร้างได้ไม่ต้องรอ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวเมืองนราธิวาส ความจริงยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกมากมายหลายจุดที่น่าไปเยือนน่าไปสัมผัส เช่น ผืนป่าฮาลาบาลา หาดนราทัศน์ หมู่บ้านคนอีสานเพียงแห่งเดียวในภาคใต้ กะว่าต้นปีหน้าอาจได้ลงมาอีกครั้ง เมื่อถึงวันนั้นคงได้นำมาให้ชมกันครับ
ขอบคุณ
– การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
– เพื่อนร่วมเดินทางทุกท่าน รวมถึงชาวบ้านทุกชุมชนที่เอื้ออารีย์