มัสยิดกลางปัตตานี

ด้วยความคิดถึงจึงบินมาหา

ตอนจบ รักนะปัตตานี

(3 คืน 4 วัน ในเมืองนราธิวาส ยะลา ปัตตานี)

ฉันคือปีกนกจากโลกใบเล็ก

ฉันคือดาวดวงเล็กจากฟ้าราตรี

ฉันคือรอยยิ้มจากเมืองเสรี

ฉันคือปัตตานีที่โอบกอดคุณ

โลกงามในความสงบ ล่องเรือป่าชายเลน อ่าวปัตตานี

ร่ำไรไม่เลิกรา จากมาด้วยความคิดถึง จากสะพานเหนือเขื่อนบางลาง เขตรอยต่อเบตง-ธารโต เราก้ามข้ามผืนป่าเมืองยะลามาสู่เมืองปัตตานี แวะถ่ายภาพมัสยิดกรือเซะแล้วเข้ามาที่ชุมชนบาราโหม จุดนัดหมายแรกในการทำกิจกรรมซึ่งจะต่อเนื่องไปตลอดทั้งวันจนถึงช่วงเย็น

มัสยิดกรือเซะ จะเป็นอาถรรพ์หรืออย่างไรไม่มีใครทราบ มัสยิดแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างในยุคสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่สร้างไม่เคยเสร็จ ปัจจุบันยังคงสภาพนี้แต่ยังรับใช้ศาสนาได้ดุจเดียวกับมัสยิดอื่นๆ

ที่นี่เราเริ่มจากอุ่นท้องให้อิ่มกับเมนูพื้นบ้าน เช่น แกงเหลืองกะทิ ปลาทู น้ำบูดู ไข่เจียว น้ำพริกกะปิ จากนั้นจึงไปทำผ้าบาติก ด้วยการปั้มเทียนจากบล็อกไม้ ระบายสี ตากแดด ระหว่างที่ผ้ายังไม่แห้ง เราออกเดินทางไปปากอ่าวด้วยรถสามล้อเครื่องหรือมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง จากท่าเรือเราต้องข้ามอ่าวเพื่อไปสัมผัสป่าชายเลนและนกน้ำที่เขาเล่าว่าแปลกกว่าถิ่นอื่น

มื้อเที่ยง อาหารบนใบตอง มื้อเที่ยงจากชุมชนบาราโหม เพิ่งรู้ว่าปลาทูทอดกับแกงเหลืองกะทิไปกันได้ดี งามง่ายในง่ายงามครับ
ผ้าบาติกชุมชนบาราโหม จุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวปัตตานีในทริปนี้
ทองคำบนสังกะสี
ชุมชนคนบาราโหมมีงานหัตถกรรมผ้าบาติกที่เน้นการเขียนด้วยสีธรรมชาติ (เขียนด้วยน้ำแกงเหลืองก็ด้วย) ลวดลายที่นำมาเขียนเป็นลวดลายจากถ้วยชามเซารามิกโบราณที่ค้นพบบริเวณริมแม่น้ำ และนี่คือทองคำที่เกิดจากงานหัตถกรรม
กิจกรรมแรก เริ่มจากเตรียมผ้าขาว ใช้บล็อกไม้จุ่มเทียน เขียนสี แล้วนำไปตากแดด เดี๋ยวทางชุมชนจะนำไปต้มและตากแดดซ้ำอีกที ระหว่างนั้นเราก็ไปเที่ยวป่าโกงกางและตามรอยประวัติศาสตร์
มอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง พาหนะในการเดินทางท่องเที่ยวชุมชนบาราโหม หลังเสร็จกิจเรื่องบาติก พากันร่อนไปในหมู่บ้าน แล้วไปสุดที่ท่าเรือ

เรือหางยาวแล่นฝ่าคลื่น ผ่านแนวกำแพงไม้ไผ่ที่ใช้ป้องกันคลื่นลม ระหว่างนั้นเริ่มพบ “นกกาน้ำ” “นกกระยาง” ยืนเกาะอยู่บนเสาไม้ พอเข้าไปถึงฝั่งป่าชายเลนได้ยินเสียงนกจำนวนมากส่งเสียงดังลั่นสนั่นป่า เพิ่งพบว่านกกาน้ำในป่าแห่งนี้มีจำนวนมาก มากกว่าแหล่งอื่นที่เคยไป เพิ่งพบว่านกกาน้ำฝูงใหญ่ยามเมื่อส่งเสียงสอดประสานกันนั้นมีพลังมากเพียงไร และที่สำคัญเพิ่งพบว่าป่าชายเลนเมืองปัตตานีงดงามไม่แพ้ที่อื่น

ฝูงนกกาน้ำ บนสันดอนกลางอ่าวปัตตานี
ท่องเที่ยวแบบศึกษาธรรมชาติกับเรือหางยาวอ่าวปัตตานี
บทเรียนแรกแปลกและสนุกสนาน ผ่านคลื่นจากปากอ่าวเข้าสู่ความร่มเย็นของป่าชายเลน

ขณะเรือแล่นเข้าไปในป่าชายเลนแน่นหนา พบว่ามีอุโมงค์ต้นไม้ทอดยาวคดโค้งไปมา เป็นอุโมงค์ป่าชายเลนที่งดงามด้วยไม้โกงกางสองฝั่งโน้มตัวโค้งเข้าหากันเหมือนผ่านเข้าไปในฝัน เหมือนฝันขณะลืมตา โดยเฉพาะยามแสงแดดผ่านยอดไม้ลงมากระทบน้ำนั้นงามยิ่งนัก

เข้าสู่อุโมงค์ป่าโกงกาง
แคร่ไม้ไผ่ ที่พักของนักเดินทาง ช่วงพักจากเรือ ขึ้นมานั่งบนแคร่ขนาดใหญ่หรือลานไม้ไผ่ พักกินน้ำกินขนม ชมปากอ่าวและป่าโกงกาง

ออกจากป่าโกงกาง เรือแล่นเลาะเลียบชายป่าไปพักบนจุดชมวิว บริเวณนี้เขาทำเป็นแคร่ไม้ไผ่ขนาดยาวใต้ร่มเงาพันธุ์ไม้น้อยใหญ่ ถ้ามาตอนเย็นจะเห็นฟ้าสนธยากับดวงตะวันลาลับทิวาวัน แต่ไม่เป็นไรมาตอนไหนก็งามเหมือนกัน ส่วนของขวัญที่ได้กลับมาคือภาพฝูงเหยี่ยวแดงกางปีกบินวนอยู่บนฟากฟ้า นับเป็นการท่องเที่ยวด้วยเรือที่เรียบง่ายแต่ได้ใจ ได้อรรถรสเป็นอย่างยิ่ง

เหยี่ยวแดง หนึ่งในนักล่าผู้รักษาสมดุลท้องทะเล

จากปากอ่าว คราวนี้มอเตอร์ไซค์พ่วงข้างพาเราไปพบปราชญ์ชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้านพาเราไปพบสุสานเจ้าเมือง สุสานเจ้าหญิงแห่งเมืองปัตตานีซึ่งมีอดีตที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน เช่น คนไทยมุสลิมไม่มีประเพณีให้ผู้หญิงครองเมือง แต่ด้วยจำเป็นจึงต้องเปลี่ยนธรรมเนียมปฏิบัติ นั่นคือเหตุและผลซึ่งอาจเป็นหนึ่งในกลไกลอันเป็นความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” ที่ตีความง่ายๆ ว่า “วัฒนธรรมคือการสืบทอดและปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย”

สุสานพญาอินทิรา สถานที่ฝังศพของชาวไทยมุสลิม
สุสานสุลต่าน อิสมาอิล ชาร์ (พญาอินทิรา) และพระชายา สุลต่าน อิสมาอิล ชาร์ เป็นเจ้าเมืองปัตตานีองค์แรกที่นับถือศาสนาอิสลาม ระหว่างปีพ.ศ. 2043-2073 จุดเด่นของสุสานคือหินแนแซหรือหินทรายสลักลวดลายเหนือหลุมศพ
สุสานราชินีสามพี่น้อง (รายาฮีเยา รายาบีรู และรายาอูรู)
สุสานราชินีสามพี่น้อง คือรายาฮีเยา รายาบีรู และรายาอูรู สุสานราชินีเป็นที่ฝังพระศพของเจ้าเมืองปัตตานี 3 พระองค์ ซึ่งเป็นธิดาของสุลต่านมันศูร ซาห์ ได้รับการแต่งตั้งต่อเนื่องกัน 3 พระองค์

ช่วงเย็นของวันเราไปเดินชมอาคารเก่าแก่ในย่านเมืองเก่า อาคารแต่ละหลังทรงคุณค่า เต็มไปด้วยความงามที่ยังคงอยู่ บ้านเกือบทุกหลังยังมีคนอยู่อาศัย ยังมีความเคลื่อนไหว ไม่ได้ปิดตายอย่างไร้ค่า (เอาไว้วันหน้าจะเอามานำเสนออย่างละเอียดกันอีกทีครับ)

บ้านตึกขาว บ้านสองชั้น สถาปัตยกรรมผสมผสานยุโรป-จีน มีลักษณะคล้ายๆ บ้านเรือนแถว 3 ห้อง
บ้านบ้านกงสี สถาปัตยกรรมแบบจีน บนถนนอาเนาะรู
บ้านขุนพิทักษ์รายา ปัตตานี บ้านหลังนี้สมบูรณ์แบบทั้งงานสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งภายใน (เอาไว้โอกาสดีๆ จะมาเล่ากันให้ละเอียด ถ่ายภาพไว้เพียบครับ)

สุดท้ายปลายถนนเราแวะเข้าไปศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เจ้าแม่ที่คนไทยเชื้อสายจีนในปัตตานีกราบไหว้ด้วยความเคารพศรัทธา หากใครไม่เคยมาอยากให้มาในช่วง “งานประจำปีเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” ช่วงนั้นมีประเพณีลุยไฟและแบกรูปเคารพเจ้าแม่ข้ามแม่น้ำปัตตานี เป็นประเพณีที่สุดยอดอีกประเพณีหนึ่งครับ

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
รูปเคารพเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

สุดท้ายปลายวันพวกเราไปปักหลักที่ “มัสยิดกลางปัตตานี” ไปชมสถาปัตยกรรมเชิงศาสนาที่งดงาม กล่าวกันว่ารูปแบบมัสยิดที่ปรากฏได้แรงบันดาลใจมาจากทัชมาฮาลของอินเดีย มัสยิดกลางปัตตานีเป็นมัสยิดที่เปิดกว้างให้คนทั่วไปเข้าชมได้ โดยเฉพาะช่วงเย็นมีแสงไฟหลากสีสาดส่องตัวอาคารผสมผสานกับแสงตะวันสุดท้าย เกิดเป็นความเข้มขลังและงดงามในคราวเดียวกัน

มัสยิดกลางปัตตานีกับบรรยากาศยามค่ำ งามสถาปัตยกรรมบนแผ่นดินไทยในนามปัตตานี

สิ้นวัน ยังไม่สิ้นคืน กินข้าวเย็นกันเสร็จสรรพจึงพากันหอบเป้กระเป๋าเข้าที่พักซึ่งเราเลือกพักที่ CS ปัตตานี โรงแรมเก่าแก่ที่คงงานดีไซน์เอาไว้ได้ดีดุจเดิม ที่สำคัญนอกจากมีห้องพักกว้างขวางที่นี่ยังมีพิพิธภัณฑ์ซ่อนไว้บนชั้นสองของอาคาร เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาเก่าเก็บและเครื่องถมทองทรงคุณค่า ใครมาพักลองแจ้งว่าอยากเข้าชมทางโรงแรมยินดีเปิดให้ชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ครับ

ห้องพัก โรงแรม CS ปัตตานี
ลานโล่งด้านหน้าโรงแรม CS ปัตตานี, ส่วนต้อนรับ, ข้าวยำและข้าวเหนียวหน้ากุ้ง อาหารยามเช้าที่พลาดไม่ได้
ผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาเก่าเก็บ ภายในพิพิธภัณฑ์โรงแรม CS ปัตตานี
กล่องลิเภาเก่าแก่ อายุประมาณ 100 ปี สมบัติของนางวลัย วัฒนายากร
เครื่องถมทอง ชิ้นนี้ทรงคุณค่า ประเมินราคาไม่ได้
เครื่องถมทองที่งดงงามด้วยฝีมือเชิงช่าง จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์โรงแรม CS ปัตตานี

รุ่งเช้าวันใหม่ ปัตตานีถูกโอบกอดด้วยม่านหมอกบางๆ จากโรงแรมเรามุ่งสู่วัดช้างไห้ใน อ.โคกโพธิ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 40 กิโลเมตร คงไม่ต้องบอกว่ามาทำไม หากเป็นคนไทยพุทธคงรู้ดีว่า “มาวัดช้างไห้เพราะต้องการมากราบไหว้บูชารูปเคารพหลวงพ่อทวด”

สถานีรถไฟวัดช้างไห้อยู่ใกล้วัดช้างไห้ การเดินทางไปวัดช้างไห้ไปได้ทั้งทางรถยนต์และทางรถไฟ
รูปเคารพหลวงพ่อทวดประดิษฐานภายในมณฑปด้านหน้าวัดช้างไห้

ออกจากวัดช้างไห้ ย้ายมาที่บ้านทรายขาว หมู่บ้านแห่งการท่องเที่ยวที่มีทั้งโฮมสเตย์ สวนผลไม้ น้ำตก วัด และอุทยานแห่งชาติทรายขาว ที่น่าสนใจคือมีบริการนั่งรถจี๊บสมัยสงครามโลกท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ ส่วนจุดไฮไลท์คือเข้าไปในอุทยานฯ ขึ้นไปกราบสักการะบูชาพระพุทธมหามุนิลโลกนาถ บริเวณริมหน้าผา ทัศนาทิวทัศน์กว้างไกลสุดตาแล้วลงมาสัมผัสหินพญางู สัมผัสธารน้ำตกสวยใส จากนั้นจึงไปวัดทรายขาว ส่วนจุดสุดท้ายอันเป็นเป้าหมายในยามหิวและเหนื่อยล้าคืออาหารกลางวันอันโอชะจากฝีมือแม่บ้านชุมชนทรายขาว อยากบอกว่าตลอด 3 คืน 4 วัน ที่ผ่านมาผมเขียนเรื่องกินเรื่องอาหารเยอะมาก ชื่นชมก็มาก เหมือนมาเขียนเรื่องเปิบพิสดารยังไงไม่รู้ แต่ที่นี่ไม่ชมไม่ได้เพราะรสชาติอาหารเด็ดจริงไรจริง เพื่อนบางคนไม่ยอมทิ้งช้อน บางคนกอดหม้อข้าวแน่นหนึบ ท้องไม่ป่องไม่ร้องว่าพอครับ

เดินทางท่องเที่ยวด้วยรถจี๊บโบราณ สันนิษฐานว่ามีมาแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ที่พบมากคือยุคสงครามเวียดนามที่ทหารอเมริกันนำมาใช้แล้วไม่ได้นำกลับไป ที่สังเกตชัดคือรถ Jeep Villy สัญชาติอเมริกันแท้ๆ
ถนนแสนสวยจากหมู่บ้านทรายขาวไปอุทยานแห่งชาติทรายขาว
จุดชมวิวเขารังเกียบในอุทยานแห่งชาติทรายขาว
พระพุทธมหามุนิลโลกนาถ ประดิษฐานบนเขาในอุทยานแห่งชาติทรายขาว
ทิวทัศน์แนวหินผาและผืนป่า มองจากด้านข้างองค์พระพุทธมหามุนิลโลกนาถ
ทิวทัศน์หมู่บ้านทรายขาว มองจากจุดชมวิวเขารังเกียบ
มณฑปวัดทรายขาว งดงามสะดุดตา มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบมณฑปวัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี
สุดยอดอาหารจากชุมชนคนทรายขาว อิ่มเอมแบบลืมไม่ลง บางคนบอกว่าอยากมาซ้ำ จะจดจำรสชาติยำตะลิงปิง ทานคู่กับใบชะพลู แกงคูนไก่ (อ้อดิบ) แกงเรียง กุ้งผัดกะปิสะตอ น้ำพริกกะปิ โว้ว!
ธารน้ำในอุทยานแห่งชาติทรายขาว
หินพญางู ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นงูใจดีที่คอยปกป้องดูแลชีวิตนักท่องเที่ยว
พระหยกแบบพม่า ประดิษฐานในวิหารวัดทรายขาว
ทัศนียภาพเมืองปัตตานียามเช้า

เป็นอันว่าการเดินทางท่องเที่ยว 3 คืน 4 วัน ในเมืองนราธิวาส ยะลา ปัตตานี จบลงที่นี่ จบลงตรงนี้ สิ่งที่ได้รับคือความงดงามจากแหล่งท่องเที่ยว ความโอบอ้อมอารีย์จากชาวบ้านในชุมชน ผมรักรอยยิ้มจากหัวใจของพวกเขา สนุกสนานกับเรื่องเล่าทั้งที่จริงและมาจากตำนานความเชื่อ คงต้องขอบคุณกันไว้ตรงนี้ หากโชคชะตายังมีขอให้ได้กลับมาอีกครั้งครับ

ขอบคุณเพื่อนๆ ที่ติดตามอ่านมาโดยตลอด ขอบคุณจากใจ ขอบใจไทยแลนด์ สวัสดีครับ

(อ่านรายละเอียดจากคำบรรยายภาพครับ)

#khobjaithailand

#ปัตตานี

#หรอยแรงแหล่งใต้

#โมเมนต์ที่ใช่สร้างได้ไม่ต้องรอ

#AmazingThailand

#ด้วยความคิดถึงจึงบินมาหา

หมายเหตุ

– ชุมชนท่องเที่ยวบาราโหม Barahom Bazaar อ.เมือง จ.ปัตตานี คุณฟารีดา กล้าณรงค์ โทร 093-580-2702

– ชุมชนท่องเที่ยวบ้านทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ลุงชนิน เศียรอินทร์ โทร. 089-737-9553

– สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ททท.สำนักงานนราธิวาส โทร.073 542 345-6

ขอบคุณ

– การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนับสนุนการเดินทาง

– เพื่อนร่วมทางสนับสนุนความสุขระหว่างวัน

– ชาวบ้านผู้เอื้ออารีย์ทุกชุมชน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น